top of page

มองสารคดี "The Social Dilemma"
ผ่านจิตวิทยาสังคม

13/08/2564

เมื่อเพื่อนร่วมงานเดินมาบอกว่ามีสารคดีที่น่าสนใจในขณะนี้คือเรื่อง "The Social Dilemma" ฝากให้ไปดูเป็นการบ้านและให้เขียนบทวิเคราะห์วิเคราะห์ในมุมมองเชิงจิตวิทยาสังคมด้วย เลยได้มีโอกาสชมสารคดีความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่สะท้อนว่าเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตช่วยให้การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลนั้นมีความสะดวกรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย

สารคดีได้นำเสนอว่าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเหล่านี้มีรายได้มหาศาลจากการขายโฆษณา โดยการโฆษณาซ้ำๆ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภครับรู้และจดจำสินค้าผ่านโฆษณาได้แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อทัศนคติที่มีต่อโฆษณาและสินค้าอีกด้วย โดยผลเพียงจากการได้รับรู้บ่อย (Mere Exposure Effect) ได้อธิบายว่าเมื่อมนุษย์ได้เห็นสิ่งใหม่ซ้ำๆ จะมีแนวโน้มที่มีจะมีทัศนคติทางบวกหรือชอบสิ่งนั้นมากขึ้น (Zajonc, 1968) ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าการได้เห็นหรือรับรู้สิ่งนั้นบ่อยๆ จะเกิดความคุ้นเคย (Familiarity) แล้วนำไปสู่ความชอบ (Bornstein, 1989) ดังนั้น การนำเสนอโฆษณาบ่อยๆ ก็อาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกชอบโฆษณาและสินค้าเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

แม้การโฆษณาผ่านสื่อ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์นั้นจะมีมาอย่างช้านาน แต่ในยุคปัจจุบันการโฆษณาออนไลน์ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีความเข้าถึง (Accessibility) กลุ่มผู้บริโภคได้ดีกว่าสื่อต่างๆ ในอดีต นอกจากนี้บริษัทสื่อออนไลน์มีข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมหาศาลทั่วโลก ซึ่งอัลกอริธึม (Algorithm) สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้แล้วนำไปสู่การเลือกนำเสนอข้อมูลหรือโฆษณาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งนั่นทำให้การจูงใจผ่านการโฆษณามีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเพราะเมื่อสิ่งเร้านั้นมีความเกี่ยวข้องส่วนบุคคล (Personal Relevance) หรือ "มีผลต่อชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ" (Apsler & Sears, 1968) มนุษย์จะมีแรงจูงใจในการคิดถึงข้อมูลที่ได้รับมาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคจะใส่ใจมากขึ้นเมื่อโฆษณาที่ปรากฏมีความเกี่ยวข้องกับตนเอง

อีกแง่มุมหนึ่ง การหยิบโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนขึ้นมาดูในแต่ละครั้งแล้วมีข้อมูลที่น่าสนใจนำเสนอขึ้นมา ก็เปรียบเสมือนการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) ที่ทำให้การหยิบโทรศัพท์นั้นถี่ขึ้นเพราะว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจรออยู่ ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจนี้นอกเหนือจากข้อมูลที่เกิดจากการนำเสนอของสื่อออนไลน์แล้ว อาจจะเป็นข้อมูลอื่นๆ อีกก็ได้ เช่น ข้อความที่คนรู้จักส่งมาพูดคุยทักทาย การอัปเดตข้อมูลในสื่อสังคม (Social Media) เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าข้อมูลที่น่าสนใจอาจจะไม่ได้ปรากฏทุกครั้งที่หยิบโทรศัพท์มือถือ กล่าวคือไม่รู้ว่าจะต้องหยิบโทรศัพท์กี่รอบ หรือจะต้องเว้นระยะเวลานานแค่ไหน ข้อมูลที่น่าสนใจจึงจะปรากฏ แต่พฤติกรรมการหยิบโทรศัพท์มือถือก็จะยังคงอยู่ซึ่งเป็นไปตามหลักตารางการเสริมแรงแบบไม่คงที่ (Variable Reinforcement Schedules) (King, 2016) โดยที่พฤติกรรมดังกล่าวอาจตีความได้ว่าเป็นการพึ่งพาบางสิ่งเพื่อบรรเทาความเครียด โดยทำซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีทั่วไปของการเสพติด (General Theory of Addiction) (Jacobs, 1989) ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าการพึ่งพาโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนโดยใช้ซ้ำๆ เกินพอดีเป็นระยะเวลานานถือเป็นการเสพติดโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน (Smartphone Addiction)

การเสพติดโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า (Depression) (Beranuy et al., 2009; Thomée et al., 2011) และวิตกกังวล (Anxiety) (Cheever et al., 2014; Lepp et al., 2014) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บุคคลติดโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ การเสพติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction) ความรู้สึกกลัวการพลาดโอกาส (Fear of Missing Out) และการมีปัญหาในการควบคุมตนเอง (Self-control) (Chotpitayasunondh & Douglas, 2016) ซึ่งการเสพติดโทรศัพท์มือถือนำไปสู่ปรากฏการณ์การละเลยคู่สนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือ (Phubbing) ซึ่งหมายถึงในระหว่างการสนทนาหรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แทนที่จะพูดคุยกับคู่สนทนาโดยตรง แต่กลับสนใจโทรศัพท์มือถือและละเลยคู่สนทนาตรงหน้า (Chotpitayasunondh & Douglas, 2016) หรืออย่างที่คำในสื่อใช้กันว่า "สังคมก้มหน้า" ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยเฉพาะคุณภาพในการสื่อสาร (Communication Quality) และความพึงพอใจในความสัมพันธ์ (Relationship Satisfaction) กับคู่สนทนาที่ลดลง (Chotpitayasunondh & Douglas, 2018) ดังจะเห็นได้จากในสารคดีที่นำเสนอภาพสมาชิกในครอบครัวที่ต่างสนใจโทรศัพท์มือถือของตัวเองในระหว่างการรับประทานอาหารมื้อเย็น แทนที่จะได้ใช้เวลาของครอบครัวพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร

นอกจากการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนที่เกินพอดีจะส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตจริงแล้ว ยังส่งผลต่อลักษณะการแสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ในสื่อสังคม (Social Media) อีกด้วย โดยส่วนใหญ่พบว่าจะพยายามแสดงตัวตนที่ผ่านการกลั่นกรองหรือตกแต่งเพื่อให้ดูดีทั้งในแง่ของรูปภาพและข้อความโดยมุ่งหวังให้ได้รับความประทับใจจากบุคคลอื่น (Schlosser, 2020) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการนำเสนอตน (Self-presentation) ที่บุคคลจะแสดงตัวตนที่สร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น (Leary, 1994) ดังจะเห็นได้จากฉากที่ตัวละครลูกสาวถ่ายภาพเซลฟี่ (Selfie) ลงสื่อสังคมด้วยรูปที่คิดว่าดูดีแล้วมุ่งหวังรางวัลภายนอก (External Rewards) เช่น ยอดไลก์ คอมเมนต์คำชมจากคนอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ มีข้อมูลมากมายที่หลั่งไหลอยู่รวมถึงข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเชื่อที่เป็นปัญหา เช่น ความเชื่อหรือทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Beliefs or Theories) โดยความเชื่อสมคบคิดเป็นคำอธิบายเหตุการณ์หรือสถานการณ์ว่าเกิดขึ้นจากการสมคบคิดของผู้มีอำนาจที่ได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยแรงจูงใจทางการเมือง (Goertzel, 1994) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมเกิดภาวะวิกฤตต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การก่อการร้าย หรือภาวะโรคระบาด เป็นต้น (Jolley & Lamberty, 2020) โดยตัวอย่างที่เข้าข่ายความเชื่อสมคบคิด ได้แก่ การปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของยานอพอลโล่ 11 เป็นเรื่องโกหก รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปกปิดข่าว UFO ตกที่เมือง Roswell ในปี ค.ศ.1947 หรือแม้กระทั่งภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นต้น (Jolley, 2013) ซึ่งในสารคดีได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าความเชื่อสมคบคิดส่งผลมากมายต่อมนุษย์ ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าความเชื่อสมคบคิดมีแนวโน้มส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ เช่น พ่อแม่จะพาลูกไปฉีดวัคซีนน้อยลง (Jolley & Douglas, 2014) นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีความตั้งใจในการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย (Jolley et al., 2019)

 

แม้อินเทอร์เน็ตช่วยให้ข้อมูลทฤษฎีสมคบคิดนั้นแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าอินเทอร์เน็ตจะทำให้ทฤษฎีสมคบคิดนั้นลุกลามเสมอไป เพราะคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานหักล้างความเชื่อได้ (Clarke, 2007) แต่สิ่งที่อินเทอร์เน็ตทำให้ความเชื่อสมคบคิดลุกลามเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตเอื้อให้เกิดชุมชนออนไลน์ (Online Communities) ที่ช่วยให้สามารถอภิปรายทฤษฎีสมคบคิดได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลักการมีทัศนะที่หนักแน่นขึ้นไปในทิศทางเดียวกันหลังการอภิปรายกลุ่ม (Group Polarization) ได้อธิบายว่าเมื่อบุคคลมีทัศนคติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นพื้นฐาน เมื่อได้อภิปรายร่วมกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน บุคคลจะมีทัศนคติที่รุนแรงมากขึ้น (Moscovici & Zavalloni, 1969) โดยสามารถอธิบายกลุ่มคนที่มีความเชื่อสมคบคิดได้ว่าเมื่อได้อภิปรายความเชื่อของตนในชุมชนออนไลน์ก็จะยิ่งปักใจเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยยังพบอีกว่ากลุ่มคนที่มีความเชื่อสมคบคิดมักจะสื่อสารในโลกออนไลน์ออกมาในเชิงลบ (Zollo et al., 2015) อีกทั้งไม่ค่อยไตร่ตรองข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณมากนัก (Bessi et al., 2015)

จากที่ได้ทบทวนมาทั้งหมด ก็เกิดคำถามว่าสรุปแล้วการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟนในยุคดิจิทัลนี้ทำให้คนเป็นทุกข์เสมอไปหรือไม่ Kushlev & Leitao (2020) ได้ให้ความเห็นว่าการใช้สมาร์ตโฟนจะทำให้คนมีความสุขหรือเป็นทุกข์นั้นขึ้นกับว่าใช้สมาร์ตโฟนตอนไหน ใช้อย่างไร ใช้เพื่ออะไร และใช้มากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหรือไม่ ซึ่งในสารคดี ผู้เชี่ยวชาญก็ได้เสริมว่าการใช้สมาร์ตโฟนไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป รัฐต้องตามยุคสมัยให้ทันด้วยการออกกฎหมายควบคุมเพื่อคุ้มครองประชาชนและป้องกันผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล (Digital Privacy) ของผู้ใช้ นอกจากนี้ตัวบุคคลควรใช้ความคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและพิจารณาข้อมูลและหลักฐานอย่างมีวิจารณญาณจะสามารถลดความเชื่อสมคบคิด (Swami et al., 2014) และต่อต้านการจูงใจต่างๆ ได้ (Cialdini, 2001)

อ้างอิง

Apsler, R., & Sears, D. O. (1968). Warning, personal involvement, and attitude change. Journal of Personality and Social Psychology, 9(2p1), 162-166.

Beranuy, M., Oberst, U., Carbonell, X., & Chamarro, A. (2009). Problematic Internet and mobile phone use and clinical symptoms in college students: The role of emotional intelligence. Computers in Human Behavior, 25(5), 1182-1187.

Bessi, A., Coletto, M., Davidescu, G. A., Scala, A., Caldarelli, G., & Quattrociocchi, W. (2015). Science vs conspiracy: Collective narratives in the age of misinformation. PloS One, 10(2), e0118093.

Bornstein, R. F. (1989). Exposure and affect: overview and meta-analysis of research, 1968–1987. Psychological Bulletin, 106(2), 265-289.

Cheever, N. A., Rosen, L. D., Carrier, L. M., & Chavez, A. (2014). Out of sight is not out of mind: The impact of restricting wireless mobile device use on anxiety levels among low, moderate and high users. Computers in Human Behavior, 37, 290-297.

Chotpitayasunondh, V., & Douglas, K. M. (2016). How “phubbing” becomes the norm: The antecedents and consequences of snubbing via smartphone. Computers in Human Behavior, 63, 9-18.

Chotpitayasunondh, V., & Douglas, K. M. (2018). The effects of “phubbing” on social interaction. Journal of Applied Social Psychology, 48(6), 304-316.

Cialdini, R. B. (2001). The science of persuasion. Scientific American, 284(2), 76-81.

Clarke, S. (2007). Conspiracy theories and the Internet: Controlled demolition and arrested development. Episteme, 4(2), 167-180.

Goertzel, T. (1994). Belief in conspiracy theories. Political Psychology, 15(4), 731-742.

Jacobs, D. F. (1989). A general theory of addictions: Rationale for and evidence supporting a new approach for understanding and treating addictive behaviors. In H. J. Shaffer, S. A. Stein, B. Gambino, & T. N. Cummings (Eds.), Compulsive gambling: Theory, research, and practice (pp. 35–64). Lexington Books/D. C. Heath and Com.

Jolley, D. (2013). The detrimental nature of conspiracy theories. Psychology Postgraduate Affairs Group Quarterly, 88, 35-39.

Jolley, D., & Douglas, K. M. (2014). The effects of anti-vaccine conspiracy theories on vaccination intentions. PloS One, 9(2), e89177.

Jolley, D., Douglas, K. M., Leite, A. C., & Schrader, T. (2019). Belief in conspiracy theories and intentions to engage in everyday crime. British Journal of Social Psychology, 58(3), 534-549.

Jolley & Lamberty (2020, February 28) Coronavirus is a breeding ground for conspiracy theories – here’s why that’s a serious problem. The Conversation. https://theconversation.com/coronavirus-is-a-breeding-ground-for-conspiracy-theories-heres-why-thats-a-serious-problem-132489

King, L. A. (2016). The science of psychology: An appreciative view. McGraw-Hill Education.

Kushlev, K., & Leitao, M. R. (2020). The effects of smartphones on well-being: Theoretical integration and research agenda. Current Opinion in Psychology, 36, 77-82.

Leary, M. R. (1994). Self-presentation: Impression management and interpersonal behavior. Brown & Benchmark

Lepp, A., Barkley, J. E., & Karpinski, A. C. (2014). The relationship between cell phone use, academic performance, anxiety, and satisfaction with life in college students. Computers in Human Behavior, 31, 343-350.

Moscovici, S., & Zavalloni, M. (1969). The group as a polarizer of attitudes. Journal of Personality and Social Psychology, 12(2), 125.

Schlosser, A. E. (2020). Self-disclosure versus self-presentation on social media. Current Opinion in Psychology, 31, 1-6.

Swami, V., Voracek, M., Stieger, S., Tran, U. S., & Furnham, A. (2014). Analytic thinking reduces belief in conspiracy theories. Cognition, 133(3), 572-585.

Thomée, S., Härenstam, A., & Hagberg, M. (2011). Mobile phone use and stress, sleep disturbances, and symptoms of depression among young adults-a prospective cohort study. BMC Public Health, 11(1), 1-11.

Zajonc, R. B. (1968). Attitudinal effects of mere exposure. Journal of Personality and Social Psychology, 9(2p2), 1-27.

Zollo, F., Novak, P. K., Del Vicario, M., Bessi, A., Mozetič, I., Scala, A., Caldarelli, G., & Quattrociocchi, W. (2015). Emotional dynamics in the age of misinformation. PloS One, 10(9), e0138740.

<<< กลับสู่หน้ารวมบทความ

ผู้เขียน

Phatthanakit Chobthamkit

พัฒนกิจ ชอบทำกิจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม

นอกจากเรื่องวิชาการที่สนใจพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมแล้ว ยังลุ่มหลงในวัฒนธรรมอาหารการกินและเสาะแสวงหาของกินต่างถิ่นในทุกการเดินทาง

สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง

อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12121

โทร.: 02 696 5660

อีเมล: psychology@tu.ac.th

  • Instagram
  • YouTube
bottom of page